สกู๊ปพิเศษ

10 ระบบภายในเกมที่บางทีก็สมจริงเกินไป

จนกลายเป็นความรำคาญ

ความสมจริงในวิดีโอเกมสำหรับยุคสมัยนี้คงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะทำเกมๆ หนึ่งมีความยอดเยี่ยมและสมบูรณ์ เพราะถ้าตัวเกมมีความสมจริงและถูกนำมาปรับใช้ภายในตัวเกมอย่างลงตัวก็จะทำให้ผู้เล่นได้รับอรรถรสในการเล่นจนเกิดความอิน เสมือนตัวเองได้หลุดเข้าไปโลกของเกมจริงๆ กันเลยทีเดียว เป็นผลให้ผู้เล่นเกิดความติดพันทั้งกับตัวเกมและตัวละครที่เราเล่น แต่อย่างไรก็ตามบางครั้งด้วยความที่มันเป็นเพียงแค่เกม ถ้ามีความสมจริงมากจนเกินพอดี จากความอินก็อาจจะกลายเป็นความรำคาญได้ในที่สุด และวันนี้ผมได้ทำการรวบรวม 10 ระบบภายในเกมที่บางทีมันก็สมจริงเกินไป มาฝากเพื่อนๆ กัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นไปชมพร้อมๆ กันเลยดีกว่าครับ

1. ระบบออกกำลังและระบบ Stat ตัวละคร ใน GTA San Andreas

นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งระบบที่ทำให้หลายคนจดจำเกม GTA ภาคนี้ได้เป็นอย่างดีเลยก็ว่าได้ เพราะเกมภาคนี้จะเป็นภาคเดียวที่ตัวละครของเราสามารถหิวได้ และต้องหาอะไรกินตอนหิวตลอด ( ภาคอื่นๆ การกินจะเป็นแค่การเพิ่มเลือด ) แถมมีตัวเลือกให้ผู้เล่นสามารถดูแลหุ่นของตัวละคร CJ ได้ด้วยว่าจะให้เขาอ้วนพลุเหมือน Big Smoke หรือจะให้กล้ามโตแบบ The Rock ก็ยังได้ แต่ที่มันสมจริงเกินไปก็คงไม่พ้นระบบออกกำลังที่ระบบมันบังคับให้ผู้เล่นต้องมาออกกำลังเป็นประจำ ทั้งการวิ่งหรือการยกเวท ที่ผู้เล่นต้องทำอยู่เป็นประจำทุกวัน ( เราไม่สามารถออกกำลังทีเดียวแล้วกล้ามโตได้เพราะ CJ จะมีอาการล้า ) ซึ่งถ้าใครอยากให้ตัวละครมีกล้ามใหญ่บึกบึน ( แบบไม่ใช่สูตรโกง ) ก็ต้องใช้เวลาสักพักนึงเลยทีเดียวครับ ไม่ต่างจากโลกความเป็นจริงที่เราต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเห็นผลในระยะยาว ซึ่งด้วยความละเอียดของระบบและการปรับแต่งตัวละครของเรา มันจึงเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถหาได้จากเกมภาคอื่นเลยทีเดียวครับ

2. ระบบน้ำมันรถและระบบจุกจิกอื่นๆ ใน Deadly Premonition

มาต่อกับเกมที่เหล่าเกมเมอร์สาย Cult อาจจะรู้จักกับเกม Deadly Premonition ซึ่งเกมๆ นี้ผู้เล่นจะรับบทเป็นนักสืบที่ต้องคอยตามสืบสวนเรื่องลี้ลับและต้องผจญกับภูตผีปีศาจตลอดการเล่นโดยเกม Deadly Premonition เป็นเกมแนว Open World ที่เราสามารถขับขี่รถตำรวจคู่ใจของเราไปไหนมาไหนในแผนที่ได้อย่างอิสระ แต่ตัวรถยนต์ของเราก็ต้องมีการเติมน้ำมันอย่างสม่ำเสมอเพราะเพียงแค่ 15 นาทีน้ำมันรถก็หมดถังแล้ว ( น้ำมันหมดก็ต้องเดินไปที่ปั้มอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถขโมยรถคนอื่นขับได้ ) แถมตัวเกมก็ยังมีระบบความเหนื่อยล้าและความหิวของตัวละครอีก ซึ่งเมื่อระบบที่มีภายในตัวเกมทุกอย่างมารวมกัน มันก็กลายเป็นความสมจริง ( ที่น่าจะเกินพอดีไปหน่อย ) ทำให้ผู้เล่นต้องมีการวางแผนในการเดินทางล่วงหน้า ทั้งการกินอาหารและเติมน้ำมันรถก่อนจะเริ่มวันใหม่ไม่ต่างกับการใช้ชีวิตประจำของเรานั่นเองครับ

3. เดินไต่เขาตามเวลาจริงใน Shenmue 2

อาจจะมีความเก่าแก่เกินอายุของเพื่อนๆ บางคนอยู่บ้างสำหรับเกมตระกูล Shenmue โดยตัวเกมจะให้เรารับบทเป็นหนุ่มลูกเจ้าสำนัก Ryo ที่พ่อตัวเองถูกฆ่าตายทำให้ตัวของ Ryo ต้องออกเดินทางตามหาคนที่ฆ่าคุณพ่อของเขาให้จงได้ บอกได้เลยว่าตัว Shenmue ทั้งภาค 1 และ 2 มีระบบหลายอย่างที่มัน ( โคตร ) สมจริงอยู่ไม่น้อยเลย ตั้งแต่การนอนตรงเวลา, การกดตู้กาชาปอง, การรอเวลาเพื่อเริ่ม Mision ( เราต้องยืนรอตามเวลาจริง ) แถมเราต้องทำงานหาเงินทุกวันอีกต่างหาก ( การทำงานจะกินเวลาประมาณ 30 นาทีในโลกจริง ) ซึ่งระบบต่างๆ ที่มีในตัวเกมมันก็แลดูจะสมจริงจนเกินพอดี แต่ก็คงเทียบไม่ได้กับการไต่เขาตามเวลาจริงเพื่อไปให้ถึงหมู่บ้าน Bailu ( กินเวลาโลกจริง 2 ชั่วโมงโดยประมาณ ) คือผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำเป็นคัทซีนไม่ได้จริงๆ เหรอ คือการเดินไต่เขา 2 ชั่วโมงเต็มๆ แถมระหว่างทางเราก็ต้องคุยกับ Shenhua ตลอดการเดิน ( ซึ่งก็ไม่ได้มีบทพูดอะไรที่มีความน่าสนใจเลยแม้แต่น้อย ) ทำให้ระยะเวลาอันมีค่า 2 ชั่วโมงของเราบินหายไปอย่างไม่มีวันกลับคืน ( ถ้าคุณทนเล่นจนผ่านไปได้นะ )

4. ระบบ Healing และการเล่นแบบไร้ HUD ใน The Getaway

มาต่อกันที่อับดับต่อไปกับเกม The Getaway โดยตัวเกมนี้เป็นเกมแนว Action บนโลก Open World ที่เราสามารถผจญภัยในกรุงลอนดอนได้อย่างอิสระ ซึ่งเดิมทีตัวเกมถูกวางแผนให้เป็นเกม Open World ที่มีความสมจริงสูง โดยมีการเซ็ตเนื้อเรื่องที่มีกลิ่นอายความเป็นแก๊งสเตอร์ประจำกรุงลอนดอน โดยภายในตัวเกมจะไม่มี HUD บนหน้าจอ ( HUD ที่ว่าก็คือหลอดเลือด, เงิน หรือมินิแมพ อะไรประมาณนั้นครับ ) และตัวแผนที่ก็นำกรุงลอนดอนมาเป็นต้นแบบ ( แถมขนาดแผนที่เป็นสเกล 1 ต่อ 1 กล่าวคือมีความใหญ่และสมจริงมากๆ นั่นเอง ) แต่นอกเหนือจากระบบที่กล่าวมาข้างตนภายในตัวเกมก็มีอีกหนึ่งระบบที่มันแลดูจะแปลกมากกว่าความสมจริงก็คือ การเพิ่มเลือดจากการยืนพิงกำแพง ( แถมต้องรอจนตัวละครหายเหนื่อยด้วย ) ซึ่งพอเล่นจริงๆ ความสมจริงที่เกมพยายามใส่เข้ามาในการเล่นมันก็ทำให้ผู้เล่นอย่างเราๆ จะรู้สึกติดขัดๆ กับการเล่นที่ดูไม่สมประกอบทำให้สุดท้ายก็กลายเป็นความรำคาญมากกว่าความอินซะอีก

5. ระบบล่าสัตว์ใน Red Dead Redemption 2

สำหรับชื่อเกมนี้คงเป็นที่คุ้นตาสำหรับเกมเมอร์สายคอนโซลกันอย่างไม่ต้องสงสัย ( และอาจจะมีไม่น้อยที่ได้สัมผัสกับระบบล่าสัตว์ของเกมๆ นี้ ) ซึ่งระบบล่าสัตว์ของเกมก็มีมาตั้งแต่ภาคแรกแล้วที่เราจะต้องล่าและนำเนื้อหนังไปขายเพื่อแลกกับเงิน แต่มาในภาค 2 ก็ได้มีการเปลี่ยนระบบแบบยกเครื่องใหม่ทั้งหมดเพื่อความสมจริง ( มากๆ ) ในการทำให้ผู้เล่นของเราต้องคิดวางแผนก่อนการล่าทุกครั้ง เพราะเราจะไม่สามารถควบม้าวิ่งยิงสัตว์ได้ง่ายๆ แบบภาคแรกอีกต่อไป ในการล่าแต่ละครั้งผู้เล่นต้องทำการเลือกอุปกรณ์ในการล่าเพื่อให้เนื้อหนังของสัตว์มีรอยตำหนิน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้หนังสัตว์ได้ราคาดีนั่นเอง ซึ่งทางเลือกในการล่าก็มีตั้งแต่ ใช้ปืนขนาดกระสุนเล็กๆ, ใช้เชือกในการจับ แถมเราต้องทำใช้ไอเทมเพื่อปิดกลิ่นตัว ไม่ให้สัตว์ป่าได้กลิ่นของเราอีกด้วย และตอนเราจะถลกหนังก็ต้องรอพี่ Arthur ถลกจนเสร็จอีก อีกทั้งถ้าเราจะเอาตัวสัตว์ที่ล่าได้ไปขายหรือให้พวกของเรา เราก็ต้องแบกสัตว์ที่เราล่าไปให้จนถึงที่อีกต่างหาก ( แถมตัวสัตว์ที่เราขนไปสามารถเน่าหรือหล่นกลางทางได้อีก ) คือบางทีมันก็สมจริงไปหน่อยนะครับแบบนี้

6. ระบบเมาค้างใน Kingdom Come Deliverance

เครื่องดื่มมึนเมามีทั้งข้อดีและผลข้างเคียงตามมาเสมอ ในเกมนี้ก็เช่นกัน ระบบ “ เมาค้าง “ ของเกม Kingdom Come Deliverance ทำให้ตัวละครเอกของเราสามารถเกิดอาการแฮงก์ข้ามคืนได้ไม่ต่างจากโลกความเป็นจริง ซึ่งการดื่มภายในตัวเกมจะส่งผลข้างเคียงให้กับตัวละครเป็นเวลานานใช้ได้เลย ( แถมผลข้างเคียงก็จะส่งผลต่อการเล่นอีกต่างหาก ) โดยผลข้างเคียงของการดื่มนั้น ถ้าตัวละครของเราดื่มในระดับที่พอดีก็จะทำให้เรามีทางเลือกในการตอบคำถามที่มีเสน่ห์มากกว่าเดิมและถ้าเกิดอาการเมาก็จะทำให้เราทนทานต่อความเสียหายในการต่อสู้ได้ แต่ถ้าดื่มมากจนเกินขีดจำกัด ตัวละครของเราก็จะเกิดอาการแฮงก์ทำให้ Stat ทุกอย่างของตัวละครดิ่งลงเหวซึ่งวิธีการแก้ของเราก็มีแค่การต้มยา ( ที่เราต้องปรุงเอง ) เพื่อมารักษอาการเมาค้างของเราอีก แหม่เหมือนเกมกำลังเตือนเราเลยนะครับว่าถ้าคอไม่แข็งก็ควรพึงระวังการดื่มหนักๆ ไว้ด้วย

7. การบังคับร่างกายทุกส่วน จาก Manual Samuel

หลังจากพูดถึงเกมฟอร์มใหญ่ กันไปเยอะแล้ว คราวนี้เรามาดูเกมฟอร์มเล็กกันบ้างดีกว่ากับเกม Manual Samuel ที่มาพร้อมระบบการบังคับตัวละครที่ยุ่งยากเกินจะบรรยาย ซึ่งก็ตามชื่อเกมเลยครับ Manual Samuel ผู้เล่นจำเป็นต้องบังคับทุกส่วนในร่างกายของตัวละคร Samuel ตั้งแต่ควบคุมการหายใจ ( ละเอียดถึงขั้นหายใจเข้าและหายใจออกมีปุ่มแยกกัน ), การกระพริบตา, การเข้าห้องน้ำหรือจะเป็นการขยับแขนขาแต่ละข้างที่มีปุ่มแยกกัน พูดได้เลยว่าแค่การบังคับตัวละครเพื่อทำเรื่องง่ายๆ ก็กลายเป็นเรื่องที่แสนจะยากเย็น ( เกมอย่าง Octodad ที่มีคอนเซ็ปคล้ายๆ กันก็ยังชิดซ้ายในด้านความยาก ) จะว่าเขาทำระบบเกมเอาฮาก็ไม่ผิดนัก เพราะเรื่องจริงเราคงไม่มานั่งนับว่าเราหายใจเข้าออกกี่ครั้งหรือเรากะพริบตากี่ครั้งจริงไหมล่ะครับ ( จะว่าเกมเอาฮาแต่เล่นจริงอาจจะหัวร้อนจนอยากปาจอยเลยก็ว่าได้ )

8. ไข้มาลาเรีย, ระบบปืนขัดลำและอื่นๆ ใน Far Cry 2

ผมว่าเกมเมอร์น้อยคนนะที่ไม่รู้จักกับเกมตระกูล Farcry และผมเชื่อว่าหลายคนก็คงได้สัมผัสกับตัวเกมไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาคยอดนิยมอย่าง Far Cry 3 หรือจะเป็น Far Cry 5 ที่เพิ่งออกวางขายเมื่อไม่นานมานี้ แต่ขอบอกเลยว่าถ้าใครเป็นแฟนเกมตระกูล Far Cry แต่ยังไม่ได้สัมผัสกับ Far Cry 2 ผมขอแนะนำให้พวกคุณไปลองเล่นและสัมผัสกับความฮาร์ดคอร์ของเกมดู เพราะภาคนี้น่าจะเป็นภาคที่มีความสมจริงมากที่สุดเลยก็ว่าได้ตั้งแต่เริ่มเกมมาเราก็ติดโรคมาลาเรียที่ต้องรักษาด้วยการกินยาระงับอาการ ( แถมจำนวนยาก็มีจำกัดต้องทำการเติมอยู่ตลอด ), ระบบแผนที่ที่เราจำเป็นต้องยกแผนที่จริงๆ ขึ้นมาดู, ปืนที่สามารถขัดลำได้หรือก็ไม่ก็ยิงไม่ออก ( ปืนสามารถขัดลำได้แม้กระทั่งตอนกำลังยิงกับศัตรูอยู่ ) หรือจะเป็นระบบอาวุธที่มันอาจจะขัดข้องตอนเรายิงออกไป ( ปืน RPG ที่ยิงออกไป กระสุนมันอาจจะย้อนมาโดนเราเอง ) ซึ่งระบบทั้งหมดที่กล่าวมานี้นี่เอง ( และก็มีอีกหลายอย่างที่ผมอาจจะตกหล่นไป ) ทำให้เกมภาคนี้เป็นภาคที่สมจริงและจริงจังที่สุดเลยก็ว่าได้ครับ ( แนะนำให้ลองจริงๆ นะครับภาคนี้สนุกมากๆ )

9. การขับรถตามระยะทางจริงๆ ใน Desert Bus

ชื่อเกมอาจจะไม่คุ้นหูมากนัก แต่ถ้าเห็นภาพของตัวเกม อาจจะมีเกมเมอร์บางท่านเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้ว ซึ่งภายในตัวเกมก็ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยครับ ถ้าใครคิดภาพออกก็คงคล้ายๆ เกมแนว Simulator แบบนั้นเลย โดยตัวเราก็มีหน้าที่ในการขับรถบัสเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายนั่นเอง ฟังดูก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากใช่ไหมล่ะครับ แต่ผมขอบอกเลยว่าจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทางของเราเนี่ยต้องใช้เวลาขับรวมๆ 8 ชั่วโมงในโลกจริง  ( อ่านไม่ผิดแน่นอนครับ 8 ชั่วโมงในโลกจริง ) และตัวเกมก็ไม่มีระบบ Save หรือระบบ Checkpoint ด้วย ( ถ้าปิดเกมก็ต้องเริ่มขับใหม่ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ) แถมระหว่างทางก็ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นเลยมีเพียงแค่ทะเลทรายแห้งๆ ที่ชวนให้ผุ้เล่นอย่างเราพร้อมใจกันปิดเกมจริงๆ ( คือมันไม่มีอะไรเลยนอกจากทะเลทรายจริงๆ ครับ )

10. การทำงานพาร์ทไทม์ในKingdom Hearts 2

ความสมจริงและความสมเหตุสมผลกับเกม Kingdom Hearts มันเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะเข้ากันเท่าไหร่นัก เพราะด้วยเนื้อเรื่องที่มีความเป็นแฟนตาซีสูงมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การที่จะนำตรรกะหรืออะไรก็ตามที่มันมีความสมจริงเข้ามาในตัวเกมก็คงจะดูแปลกๆ แต่ในตัวเกมภาค 2 ในช่วงต้นเกมที่เราต้องทำงานพาร์ทไทม์เพื่อเก็บเงินไปซื้อตั๋วรถไฟ ( การทำงานพาร์ทไทม์จะกินเวลาทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง ) แถมเมื่อรวบรวมเงินเสร็จเรียบร้อยตั๋วรถไฟของเราก็ดันถูกขโมยไปอีก ( คือที่ทำงาน 1 ชั่วโมงก็เปล่าประโยชน์ไปเลย ) พูดได้ว่าช่วง Prologue ของเกมภาค 2 นี้ค่อนข้างจะน่าเบื่อเอามากๆ เพราะสิ่งที่เราต้องทำก็มีแค่การทำงานพาร์ทไทม์ท ตั้งแต่การแปะโปสเตอร์, ดันรถเข็น, ส่งของและอื่นๆ ซึ่งแต่ละงานก็ไม่ได้มีความน่าเล่นอะไรเลย แถมผู้เล่นก็ไม่สามารถข้ามได้อีกต่างหาก ผลก็คือผู้เล่นอย่างเราก็ต้องทนทำงานจนได้เงินครบจำนวนเพื่อที่จะดำเนินเนื้อเรื่องต่ออย่างเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด

ก็จบกันไปแล้วนะครับกับ 10 ระบบภายในเกมที่บางทีก็สมจริงเกินไป ป็นยังไงกันบ้าง ผมว่าจริงๆ แล้วความสมจริงภายในตัวเกมมันก็สำคัญนะ แต่ไม่ใช่สำหรับทุกเกมเพราะความสมจริงเนี่ย ถ้าหากมันมากจนเกินพอดี ความสนุกที่เราควรจะได้จากตัวเกมก็อาจจะเป็นความหงุดหงิดซะมากกว่า เพราะบางทีการเล่นเกมผู้เล่นก็อาจจะไม่ได้คาดหวังความสมจริงมากมายขนาดนั้น นอกจากจะทำให้ผู้เล่นรู้สึกรำคาญแล้ว มันอาจจะกลายเป็นการบั่นทอนอารมณ์ติดพันของผู้เล่นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามถ้าความสมจริงถูกนำมาใช้ในปริมาณที่พอดีกับบางระบบ มันก็เพียงพอแล้วที่จะเปลี่ยนตัวเกมเก่าๆ ให้กลายเป็นเกมที่คนจดจำได้ไม่รู้ลืมในที่สุดนั่นเองครับ ( อย่างเช่น GTA San Andreas นี่ละเอียดเหมือนเรากำลังเล่นเกม The Sims อยู่เลย )

Back to top button